ขั้นตอนการฉายรังสี

  • ก่อนการฉายรังสี ผู้ป่วยจะได้รับการนัดเพื่อเตรียมการรักษาด้วยเครื่องจำลองการรักษา/เครื่องจำลองภาพ (simulator) หรือ มักเรียกกันว่า ห้องซิม เพื่อกำหนดขอบเขตบริเวณทางเข้าของลำรังสีและ เทคนิคที่จะให้การรักษาได้ถูกต้อง และถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อกำหนดขอบเขตบริเวณที่รักษา
  • เมื่อได้ขอบเขตการรักษาที่ถูกต้องแล้ว เจ้าหน้าที่จะวาดเส้นขอบเขตที่จะการรักษาลงบนผิวหนังของผู้ป่วย กรณีที่เป็นบริเวณใบหน้า อาจจะต้องทำหน้ากาก (Mask) เพื่อมิให้มีรอยขีดบนใบหน้า
  • การจำลองการรักษาจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นกับอวัยวะที่เป็นโรคและเทคนิคทางการรักษา
  • หลังจากขั้นตอนต่างๆดังกล่าวแล้ว แพทย์จึงนัดผู้ป่วยมารับการรักษา แต่ในบ้างครั้งถ้ามีคิวว่าง และเทคนิคการรักษาไม่ซับซ้อนมาก การฉายรังสีอาจเริ่มได้ในวันที่ผู้ป่วยพบแพทย์ครั้งแรก
  • โดยทั่วไป จะฉายรังสี วันละ 1 ครั้ง 5 วันต่อสัปดาห์ หยุดพัก 2 วัน แล้วเริ่มต้นใหม่ เพื่อให้เซลล์ส่วนดีได้ซ่อมแซม เวียนไปจนครบปริมาณรังสีตามแพทย์กำหนด แต่ตารางการฉายรังสีอาจเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพผู้ป่วยและการตอบสนองของโรค
  • เมื่อเข้าห้องฉายรังสี ผู้ป่วยจะนอนบนเตียงในลักษณะเดียวกับที่จำลองการรักษา โดยมีเจ้าหน้าที่มาจัดท่าทางและตำแหน่งการฉายรังสีให้ถูกต้อง
  • เมื่อเริ่มการฉายรังสีผู้ป่วยจะอยู่ในห้องคนเดียว โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยผ่านกล้องวงจรปิดนอกห้อง ผู้ป่วยต้องนอนนิ่งในท่าเดิมนานประมาณ 5-10 นาที
  • เจ้าหน้าที่จะควบคุมเครื่อง ให้ฉายรังสีด้วยเทคนิค ปริมาณรังสี ให้ตรงกับที่วางแผนการรักษาไว้ โดยขณะที่ฉายรังสีผู้ป่วยจะไม่รู้สึกร้อน หรือเจ็บจากการฉายรังสีแต่อย่างใด
  • เมื่อฉายรังสีเสร็จ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ ทำงานต่อได้ และกลับมารับการรักษาใหม่ในวันรุ่งขึ้น หรือตามตารางการรักษาที่แพทย์กำหนด โดยไม่มีรังสีตกค้างในตัว เพียงแต่เซลล์ที่ได้รับรังสีจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ