การรักษามะเร็งไทรอยด์

การรักษามะเร็งไทรอยด์ด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีนของโรงพยาบาลเฉพาะทางมะเร็งกรุงเทพนั้น ทำการรักษาได้ในกลุ่มของผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ที่เนื้อเยื่อของมะเร็งที่มีลักษณะ หรือมีการทำงานใกล้เคียงกับเนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์ (Well- differentiated thyroid carcinoma) โดยการรักษาจะสามารถทำได้ หลังการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดก่อน และปล่อยให้ร่างกายใช้ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์จนเหลือน้อยมาก ดังนั้นเมื่อกินสารกัมมันตรังสีไอโอดีนเข้าไป สารกัมมันตรังสีไอโอดีนจะถูกจับในเนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์ หรือเนื้อเยื่อของมะเร็งไทรอยด์ที่หลงเหลืออยู่ และปล่อยพลังงานรังสีออกมา มีผลทำให้เนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์หรือเนื้อเยื่อมะเร็งไทรอยด์ฝ่อสลายไป

ขั้นตอนและการปฏิบัติตัวในการรักษามะเร็งไทรอยด์ด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน (I-131)

  • ผู้ป่วยจะต้องได้รับการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมดก่อน โดยการรักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีนจะทำได้ หลังจากผ่าตัดต่อมไทรอยด์ครั้งล่าสุดอย่างน้อย 1 เดือน
  • ตรวจร่างกายและซักประวัติโดยแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ อธิบายขั้นตอนการรักษา และการพยากรณ์โรค
  • แพทย์จะนัดผู้ป่วยมากินสารกัมมันตรังสี ไอโอดีน โดยต้องรับเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาล เพื่อป้องกันผู้ที่ใกล้ชิดได้รับรังสีจากตัวผู้ป่วย โดยจะใช้เวลาพักประมาณ 3-4 วัน และผู้ป่วยต้องมีการเตรียมตัวก่อนทำการรักษา

การปฏิบัติตัวก่อนรับการรักษา

  • ผู้ป่วยต้องไม่ได้รับยาไทรอยด์ฮอร์โมนอย่างน้อย 1 เดือน ก่อนทำการรักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน
  • งดอาหารที่มีไอโอดีนสูง 2 สัปดาห์ เช่น อาหารทะเล,เกลือทะเล และอาหารที่เสริมไอโอดีน
  • งดยา, วิตามินมีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ 2 สัปดาห์
  • ไม่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

การปฏิบัติตัวระหว่างรับการรักษา

  • ดื่มน้ำมากกว่าปกติ 2 เท่า (3-4 ลิตร/วัน) เป็น ระยะเวลา 3 วัน
  • ปัสสาวะบ่อยๆ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังกินสารกัมมันตรังสีไอโอดีน เพื่อให้สารถูกขับออกจากร่างกาย
  • แนะนำให้กินผลไม้รสเปรี้ยวหรือ อมวิตามินซี ที่โรงพยาบาลจัดให้ หลังกินสารกัมมันตรังสีไอโอดีนแล้ว 24 ชั่วโมงเพื่อกระตุ้นให้ต่อมน้ำลายจับสารกัมมันตรังสีออก
  • งดอาหารที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ ต่ออีก 3 วัน
  • ปฏิบัติตัวตามข้อปฏิบัติอื่นๆ เมื่ออยู่ในโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัด
  • หลังจากพักในโรงพยาบาล และได้รับการตรวจวัดปริมาณรังสีว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยแล้ว ก่อนกลับบ้านจะทำการถ่ายภาพสแกนทั่วร่าง (Total body scan) เพื่อดูตำแหน่งการจับของสารกัมมันตรังสีไอโอดีน เพื่อใช้ในการติดตามการรักษาต่อไป

การปฏิบัติตัวเมื่อกลับไปอยู่บ้าน

  • ดื่มน้ำมากๆ และปัสสาวะบ่อยๆ ห้ามกลั้นปัสสาวะ
  • ห้ามปัสสาวะลงพื้นห้องน้ำโดยเด็ดขาด
  • ไม่อุ้ม/กอดเด็กเล็ก ไม่ควรใกล้ชิดสตรีมีครรภ์เป็นระยะเวลานานๆ ให้อยู่ห่าง 2 เมตร นาน 3 สัปดาห์
  • เมื่อรับประทานอาหารกับผู้อื่น ให้ใช้ช้อนกลาง และแยกจาน ช้อน แก้วน้ำ หรือภาชนะอื่นๆ
  • ไม่ควรไปชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ หรือ รับประทานอาหารตามร้านอาหาร (ไม่อยู่กับที่นานๆ ในบริเวณที่มีคนอยู่มากๆ ) นาน 1 สัปดาห์

การปฏิบัติตัวหลังรับการรักษา

  • ผู้ป่วยหญิงให้คุมกำเนิดต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน หลังรักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน
  • ผู้ป่วยต้องได้รับยาไทรอยด์ฮอร์โมนทดแทน อย่างต่อเนื่อง หลังการรักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 1 สัปดาห์ และ รับประทานตลอดชีวิต เพื่อทดแทนฮอร์โมน จากต่อมไทรอยด์ที่ถูกทำลายไป

การประเมินผลการรักษา

จะทำหลังการรักษาด้วยสารกัมมันตรังสี ไอโอดีนครบ 6 เดือน โดยจะมีการเจาะเลือด และ/หรือสแกนทั่วร่างซ้ำ หากไม่พบหลักฐานการมีอยู่ของเนื้อเยื่อมะเร็งไทรอยด์ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยสารกัมมันตรังสี ไอโอดีนซ้ำ แต่หากตรวจพบหลักฐานการมีอยู่ ของเนื้อเยื่อมะเร็งไทรอยด์ก็สามารถทำการรักษาซ้ำได้